Powered By Blogger

5/9/54

สัตว์ป่าสงวน


สัตว์ป่าสงวน
สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าที่หายาก กำหนดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ จำนวน ๙ ชนิด เป็นสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา และกางผา สัตว์ป่าสงวนเหล่านี้หายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย ต่อมาเมื่อสถานการณ์ของสัตว์ป่าในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงไป สัตว์ป่าหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการ ควบคุมดูแลการค้าหรือการลักลอบค้าสัตว์ป่าในรูปแบบต่างๆ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ว่าด้วยชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าหรือ CITES ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ.๒๕๑๘ และได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ นับเป็นสมาชิกลำดับที่ ๘๐ จึงได้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิม และตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕
              สัตว์ป่าสงวนตามในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ และตามที่กำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวก โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไข หรือเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ต้องถึงกับต้องแก้ไขพระราชบัญญัติอย่างของเดิม ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มเติมชนิดสัตว์ป่าที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ อย่างยิ่ง ๗ ชนิด และตัดสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากการที่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มาก ๑ ชนิด คือ เนื้อทราย รวมกับสัตว์ป่าสงวนเดิม ๘ ชนิด รวมเป็น ๑๕ ชนิด ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูน

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
            นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกในวงศ์นกนางแอ่นชนิดใหม่ล่าสุดของโลก และเป็นนกชนิดแรกที่ค้นพบใหม่โดยคนไทย ทำการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบและจำแนกตัวอย่างต้นแบบโดยคนไทยและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยคนไทย โดยได้อันเชิญพระนามของเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดา ( พระยศในขณะนั้น ) มาตั้งเป็นชื่อชนิดของนกที่พบใหม่นี้คือ “ Sirintarae ”
            นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรถูกพบครั้งแรกโดย คุณกิตติ ทองลงยา นักวิทยาศาสตร์ไทย ตำแหน่งภัณฑารักษ์ สัตว์มีกระดูกสันหลังบนบก ศูนย์รวมวัสดุอุเทศแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2511 โดยได้นกตัวอย่างแรกนี้ปะปนมากับนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ที่ชาวบ้านจับมาขายจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในครั้งนั้นสามารถเก็บรวบรวมนกจากแหล่งเดิมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ได้นกตัวอย่างต้นแบบในการศึกษาวิเคราะห์ทั้งหมดรวม 10 ตัว ภายหลังจากการถูกค้นพบแล้ว มีรายงานพบนกที่ถูกจับมาขายอีก 2 ครั้ง ต่อมาในปี 2515 ได้พบนกจำนวน 2 ตัว และครั้งสุดท้ายพบเพียง 1 ตัวในปี 2521 นับจากนั้นยังไม่มีรายงานการพบเห็นอย่างเป็นทางการหรือถูกดักจับได้อีกจนถึงปัจจุบัน  ลักษณะทั่วไปของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรต่างไปจากนกนางแอ่นทั่ว ๆ ไป แต่มีรูปร่างคล้ายและจำแนกอยู่ร่วมสกุลเดียวกับนกนางแอ่นเทียมคองโก ( pseudochelidon eurystomina ) ซึ่งเป็นนกนางแอ่นที่มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ประเทศซาอีร์ ตอนกลางของทวีปแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันเด่นชัด ได้แก่ สีขนตามตัวทั่วไปเป็นสีดำออกเหลืองเขียวหรือน้ำเงินเข้มบริเวณหน้า ผากมีขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาว ตา และม่านตาเป็นสีขาว มีสีชมพูเรื่อ ๆ เป็นวงในม่านตา แข้งและขาสีชมพู บริเวณสะโพกสีขาว ขนหางสั้นมนกลม ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาคล้ายหางบ่วงเห็นชัดเจน และขนบริเวณใต้คอเป็นสีน้ำตาลอมดำ
           ขนาดของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร วัดจากจงอยปากถึงโคนหางยาวประมาณ 15 เซนติเมตร จัดเป็นนกนางแอ่นขนาดใหญ่ และจากลักษณะที่มีวงสีขาวรอบตา ทำให้ดูคล้ายตาโปนพองออกมา ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า นกตะพอง   นิสัยทั่วไปของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรค่อนข้าง เชื่องไม่ปราดเปรียว และชอบชอบเกาะนิ่งอยู่กับพื้นซึ่งแตกต่างกับนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ในช่วงฤดูหนาวมักพบเห็นอยู่ปะปนกับฝูงนกนางแอ่นบ้าน นกกระจาบและนกกระจาบปีกอ่อนตมพงอ้อและดงต้นสนุ่นตามแหล่งน้ำตื้น ๆ ไม่มีรายงานการพบเห็นหรือจับตัวได้ในช่วงฤดูร้อน จึงคาดว่านกฟ้าหญิงสิรินธรจะอพยพมาหากินตามแหล่งน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งในช่วงฤดูหนาว ทำให้ถูกดักจับด้วยตาข่ายได้เนือง ๆ จากหลักฐานข้อมูลที่ได้กล่าวไว้ว่า นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่นของบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาว
            การจับคู่ผสมพันธ์และทำรังวางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ไม่ทราบแน่นอน แต่ทราบว่าน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นเทียมคองโกของแอฟริกา ซึ่งมีการจับคู่ผสมพันธุ์และทำรังวางไขาในช่วงฤดูร้อน โดยจะทำรังไข่โดยการขุดรูตามพื้นหาดทราย หรือหาดทรายบนเกาะกลางน้ำ ซึ่งมีพบอยู่มากทางตอนเหนือของบึงบรเพ็ดขนากของรุรังลึก 1-2 เมตร วางไข่ชุดละ 2-3 ใบ   ภายหลังจากที่ไม่มีการพบเห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรใน บึงบอระเพ็ดมาเป็นเวลา 15 ปีทำให้เชื่อว่า นกชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปจากบึงบอระเพ็ด ซึ่งหมายถึงสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลกไปแล้วหรืออาจจะยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก ทั้งนี้มีสาเหตุมารจากนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ค่อนข้างน้อย แล้วยังถูกล่าหรือถูกดักจับไปพร้อมนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ประกอบกับแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลายไปโดยการประมงและการเปลี่ยนแปลงของหนองบึงเป็นนาข้าวหรือทุ่ง เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการควบคุมน้ำในบึเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการอยู่รอดของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นอย่างยิ่ง 

แรด, แรดชวา
แรด เป็นสัตว์กีบคี่ มีกีบข้างละสามกีบ หนักราว 1.5-2 ตัน สูงราว 160-175 เซนติเมตร ความยาวหัว-ลำตัว 300-320 เซนติเมตร หางยาว 70 เซนติเมตร ตามลำตัวมีสีเทาหม่น มีเอกลักษณ์สำคัญคือมีนอซึ่งเป็นตอแหลมขึ้นที่เหนือจมูก นอแรดส่วนใหญ่ยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร นอที่ยาวที่สุดที่เคยพบยาว 25 เซนติเมตร แรดตัวเมียตัวใหญ่กว่าตัวผู้ แต่ไม่มีนอ หรือมีเพียงฐานนอนูนขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ริมฝีผากบนแหลมเป็นจงอยช่วยในการหยิบเกี่ยวยอดไม้มากินได้ หนังหนามีรอยพับจนดูเป็นเหมือนชุดเกราะ มีรอบพับข้ามลำตัวสามรอย คือที่ท้ายทอย หัวไหล่ และสะโพก ลักษณะทั่วไปคล้ายแรดอินเดีย แต่รูปร่างเล็กกว่า หัวเล็กกว่ามาก และมีรอยพับของหนังที่คอน้อยกว่า
แรดเป็นสัตว์ที่ถือสันโดษมาก หากินโดยลำพังเสมอ ยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์หรือช่วงที่แม่ยังเลี้ยงดูลูก แรดชอบอาศัยอยู่ในป่าฝนที่แน่นทึบ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีปลักโคลนอยู่ทั่วไป ชอบอาศัยในป่าต่ำ แต่ก็เคยมีรายงานพบในที่สูงกว่า 1,000 เมตร อาหารหลักคือใบไม้ ยอดอ่อน และผลไม้สุก เป็นต้น
แรดตัวเมียมีเขตหากินกว้างประมาณ 2.5-13.5 ตารางกิโลเมตรและซ้อนเหลื่อมกัน ตัวผู้มีเขตหากินกว้างกว่าคือราว 21 ตารางกิโลเมตร
แรดมีสายตาไม่ดี แต่มีหูและจมูกดีมาก
ในอดีตแรดเคยหากินอยู่ทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เบงกอลมาทางตะวันออกจนถึงพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เรื่อยไปจนถึงเวียดนาม ทางใต้ก็แผ่คลุมพื้นที่ตลอดคาบสมุทรมลายู รวมถึงเกาะสุมาตราและชวา ทางเหนือก็มีเขตหากินไปไกลถึงมณฑลหูหนานและเสฉวน เมื่อราว 150 ปีก่อน ยังพบอยู่ในสามพื้นที่ ได้แก่ชนิดย่อย inermis อยู่ในเบงกอลจนถึงอัสสัมและพม่า ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ชนิดย่อย annamiticus พบอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกของไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนชนิดย่อย sondaicus พบอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรีเรื่อยลงไปในคาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา
ปัจจุบันแรดได้สูญหายไปจากพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่แล้ว คงเหลืออยู่เพียงสองที่เท่านั้นคือที่คาบสมุทรอูจุงคูลอนทางตะวันตกของเกาะชวา และอีกที่หนึ่งซึ่งเพิ่งพบเมื่อปี 2531 คือริมแม่น้ำดองไนในจังหวัดลัมดองของเวียดนาม ซึ่งพบเพียงไม่ถึง 20 ตัวเท่านั้น
ในช่วงทศวรรษ 1960 จำนวนประชากรแรดในอุทยานแห่งชาติอูจุงคูลอนเหลือน้อยมากเพียง 20-30 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากการคุ้มครองอย่างเข้มงวดของทางการอินโดนีเซียทำให้จำนวนเริ่มมากขึ้นจนมีอยู่ประมาณ 50 ตัว ส่วนในพื้นที่อื่นมีรายงานว่าพบเห็นบ้างแต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ยืนยันได้คือในปี พ.ศ. 2531 ที่นายพรานล่าแรดได้และส่งกระดูกไปฮานอย
แรดตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 3-4 ปี ไม่มีฤดูผสมพันธ์ที่แน่นอน คาบการเป็นสัดนานราว 16 เดือน ออกลูกครั้งละตัว ลูกแรดจะดูดนมแม่เป็นเวลาหนึ่งหรืออาจนานถึงสองปี และกว่าแม่แรดจะผสมพันธุ์อีกครั้งก็ห่างจากคราวก่อนถึง 4-5 ปี
แรดประสบภัยคุกคามหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการล่า แรดที่ต้องการอย่างมากของตลาดยาจีน อวัยวะทุกส่วนของแรดนำไปใช้เป็นส่วนประกอบยาจีนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะนอ ในเกาหลีใต้ มีการนำนอแรดไปรักษาโรคหลายชนิด ตั้งแต่ หวัด ลมชัก ลมอัมพาต จนกระทั่งเอดส์
ในประเทศเวียดนาม ชาวบ้านเผ่าสเตียงและ เชามาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่พบแรดหลายบ้านมีปืนไว้ล่าสัตว์ใหญ่เป็นอาหารเป็นประจำ และพร้อมจะฆ่าแรดได้ทุกเมื่อที่พบเห็น ด้วยราคาค่าหัวแรดที่สูงลิบ แรดจึงถูกมองว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากกว่าสัตว์ป่าที่ควรอยู่คู่ป่า นอแรดมีราคาในตลาดในตะวันออกไกลมีค่ามากถึง 60,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ลูกค้าหลักคือ จีน เยเมน ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ภัยที่คุกคามอีกอย่างที่มีต่อแรดก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งจากประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น และจากการทำไม้ อย่างไรก็ตามการคุกคามนี้ยังอยู่ในการควบคุมจากการประกาศให้เป็นเขตคุ้มครอง
การที่ประชากรแรดเหลือน้อยมากในจังหวัดลัมดองทำให้ไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ในสายเลือด การขาดความหลากหลายทางพันธุ์กรรมทำให้ลูกหลานแรดปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ จากการศึกษาแรดห้าตัวที่ตายในในอุทยานแห่งชาติอูจุงคูลอนระหว่างปี 2524-2525 พบว่าตายจากการติดเชื้อไวรัส สิ่งนี้ยิ่งเป็นการยืนยันว่าประชากรที่น้อยนิดเปราะบางต่อโรคภัยธรรมชาติอย่างไร
ในประเทศอินโดนีเซีย แรดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2474 และอุทยานอูจุงคูลอนก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์แรดโดยเฉพาะ ในเวียดนาม แรดได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายท้องถิ่นที่อนุมัติโดยกระทรวงป่าไม้ ไซเตสบรรจุชื่อแรดไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ตั้งแต่ปี 2520 ห้ามการค้าขายระหว่างประเทศ ในประเทศไทย แม้จะไม่พบแรดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่แรดก็ยังเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย
สัตว์ในตระกูลแรดมีทั้งสิ้น 5 ชนิด นอกจากแรดแล้วยังมี กระซู่ แรดอินเดีย แรดขาว และแรดดำ สัตว์ในตระกูลแรดอาจเรียกเหมารวมกันว่า แรด ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงแรดคำเดียว อาจหมายถึงแรดชนิดใดชนิดหนึ่งในห้าชนิดนี้ หรืออาจหมายถึงแรดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoceros sondaicus นี้ก็ได้ ด้วยเหตุนี้การเอ่ยเพียงคำว่า แรด จึงอาจเกิดความกำกวมขึ้นได้ วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการเลี่ยงความกำกวมก็คือ เมื่อเอ่ยถึงแรดที่หมายถึง Rhinoceros sondaicus จะเรียกว่า แรดชวา แทนซึ่งเป็นชื่อที่ถอดความมาจากชื่อภาษาอังกฤษ (Javan Rhinoceros)

กระซู่
กระซู่เป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในจำนวน 5 ชนิดที่มีอยู่ รูปร่างหนาบึกบึน สีลำตัวน้ำตาลแดง ลักษณะเด่นที่ต่างจากพวกพ้องตระกูลแรดชนิดอื่นก็คือ มีขนสีน้ำตาลแดงยาวทั่วตัว บางครั้งฝรั่งก็เรียกว่า แรดขน สีขนจะเข้มขึ้นตามอายุ หนักราว 600-950 กิโลกรัม ความสูง 1-1.5 เมตร ความยาวลำตัว 2.0-3.0 เมตร หางยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ขาสั้นม่อต้อ ริมฝีปากบนแหลมเป็นจงอยใช้หยิบจับได้
กระซู่เป็นแรดในเอเชียเพียงชนิดเดียวที่มีสองนอ นอหน้ายาวประมาณ 25-79 เซนติเมตร นอในอยู่หว่างคิ้วและเล็กกว่ามาก มักยาวไม่ถึง 10 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียบางตัวอาจไม่มีนอใน หนังกระซู่สีน้ำตาลอมเทาเข้ม หนาเฉลี่ย 16 มิลลิเมตร หนังรอบตายับย่น มีรอยพับข้ามตัว 2 รอย คือที่หลังขาหน้าและหน้าขาหลัง ดูเหมือนหุ้มเกราะ
กระซู่มีสองชนิดย่อยคือ กระซู่ตะวันตก (Dicerorhinus sumatrensis sumatrensis) พบในเกาะสุมาตรา อินโดจีน และคาบสมุทรมลายู และ กระซู่ตะวันออก (Dicerorhinus sumatrensis harrissoni) อาศัยอยู่ในเกาะบอร์เนียว ก่อนหน้านี้เคยมีอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ (Dicerorhinus sumatrensis lasiotus) พบในอินเดีย บังกลาเทศ และพม่า แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว แม้จะยังมีความหวังว่าอาจยังมีเหลืออยู่ในพม่าก็ตาม
อาหารหลักของกระซู่คือ ใบไม้ กิ่งไม้ ยอดอ่อน ผลไม้ เช่น ทุเรียนป่า มะม่วงป่า ลูกไทร ไผ่ และพืชที่ขึ้นตามป่าชั้นสอง กินอาหารเฉลี่ยวันละ 50 กิโลกรัม กระซู่หากินโดยลำพังตอนเช้ามืดและหัวค่ำ เดินทางตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะนอนแช่ปลักหรือในบึงเพื่อพักผ่อน กระซู่มักทำปลักส่วนตัวโดยจะถางบริเวณในรัศมี 10-35 เมตรให้ราบเรียบเพื่อเป็นที่พักผ่อน กระซู่มีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล โดยในฤดูฝนจะย้ายไปอยู่ที่สูง ส่วนในฤดูอื่นจะย้ายลงมาอยู่ในที่ต่ำ แม้จะดูอ้วนเทอะทะแต่กระซู่ปีนป่ายหน้าผาชันได้เก่ง และว่ายน้ำได้ดี เคยมีผู้พบเห็นกระซู่ว่ายในน้ำทะเลด้วย
กระซู่จำเป็นต้องลงกินโป่งอยู่เสมอ เคยพบว่าพื้นที่รอบโป่งแห่งหนึ่งมีจำนวนกระซู่มากถึง 13-14 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ตัวผู้มีพื้นที่หากินประมาณ 30 ตารางกิโลเมตรและซ้อนเหลื่อมกันมาก ส่วนตัวเมียมีอาณาเขตเล็กกว่า เพียง 10-15 ตารางกิโลเมตรและซ้อนทับกับตัวเมียตัวอื่นเล็กน้อย ทั้งตัวผู้และตัวเมียทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขตด้วยรอยครูด ขี้ ละอองเยี่ยว และรอยลู่ของไม้อ่อน
กระซู่อาศัยได้ในป่าหลายประเภท แต่ชอบที่สูงที่มีมอสปกคลุมและป่าฝนเขตร้อน มักพบใกล้แหล่งน้ำ ป่าชั้นสองที่มีความหนาแน่นพอสมควรก็ดึงดูดกระซู่ได้ นอกจากนี้ยังเคยพบว่ากระซู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งด้วย
ฤดูกาลผสมพันธุ์ไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบว่าลูกกระซู่มักเกิดช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุก แม่กระซู่ตั้งท้องนาน 477 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกกระซู่แรกเกิดหนัก 25 กิโลกรัม สูง 60 เซนติเมตรและยาว 90 เซนติเมตร มีขนแน่นและสีขนออกแดง ช่วงวันแรก ๆ ลูกกระซู่จะซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ทึบใกล้โป่งขณะที่แม่ออกไปหากิน พออายุได้ 2 เดือนจึงออกติดตามแม่ไปได้ หย่านมได้เมื่ออายุ 18 เดือน แต่จะยังอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุ 2-3 ปี กระซู่วัยเด็กอาจอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อโตแล้วก็จะแยกย้ายกันไปหากินตามลำพัง
ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4 ปี ส่วนตัวผู้ต้องรอไปถึงอายุ 7 ปี ตัวเมียมีระยะตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 3-4 ปี กระซู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุขัยประมาณ 35 ปี
กระซู่นับเป็นสัตว์ใหญ่ที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก ในต้นศตวรรษที่ 20 กระซู่ยังพบอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย ภูฏาน อินเดียตะวันออกจนถึงมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว กระซู่ตะวันตกในแผ่นดินใหญ่เหลือเพียงประมาณ 100 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรมลายู ในประเทศไทยอาจเหลือเพียง 10 ตัว และในเกาะสุมาตรามีจำนวนประมาณ 300 ตัว กระซู่ตะวันออกที่เคยพบทั่วเกาะบอร์เนียวเหลือเพียงประมาณ 60 ตัวในรัฐซาบาห์เท่านั้น ส่วนในรัฐซาราวักและกาลิมันตันไม่พบอีกแล้ว
กระซู่ประสบถูกคุกคามเนื่องจากป่าที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกอย่างหนักจนเริ่มขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ยิ่งกว่านั้น ทุกพื้นที่ที่พบกระซู่ล้วนแต่มีแนวโน้มประชากรลดลง ศัตรูหลักของกระซู่คือมนุษย์และเสือโคร่ง
โครงการขยายพันธุ์กระซู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา มีกระซู่ถูกจับมาจากป่าเพื่อมาเข้าโครงการนี้ 40 ตัว แต่ก็ตายไปถึง 19 ตัว การผสมเทียมก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ความล้มเหลวดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากการขาดความรู้ด้านโภชนาการและการสืบพันธุ์ของกระซู่ ปัจจุบันเราทราบแล้วว่ากระซู่ต้องการพื้นที่กว้างกว่าเดิมและมีสภาพเป็นธรรมชาติมากกว่าที่เคยมีอยู่  แม้เวลาจะเหลือน้อยลงทุกที แต่ความพยายามที่จะรักษาเผ่าพันธุ์กระซู่ยังคงดำเนินต่อไปไอยูซีเอ็นจัดให้กระซู่อยู่ในสภาวะวิกฤต ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1


กูปรี
กูปรีเป็นสัตว์จำพวกวัว ความยาวหัว-ลำตัว 210-223 เซนติเมตร หนัก 681 ถึง 910 กิโลกรัม กูปรีตัวผู้ความสูงที่หัวไหล่ 170-190 เซนติเมตร หางยาว 100 เซนติเมตร ตัวผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือเหนียงคอห้อยยาน ซึ่งต่างจากวัวควายชนิดอื่น เหนียงคอบางตัวยาวเรี่ยพื้นดินถึง 40 เซนติเมตร มีรอยบากที่รูจมูก ช่วงใต้ลำตัวและขาท่อนล่างมีสีซีด มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมียแต่รูปร่างต่างกัน เขาตัวผู้กางออกกว้างแล้วโค้งไปด้านหน้าพร้อมกับช้อนขึ้นบน ปลายเขาแตกเป็นพู่ เขาของตัวผู้อาจยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียเขาเล็กกว่าของตัวผู้มาก มีรูปร่างคล้ายพิณไลร์ดังแบบเขาของแอนทิโลปบางชนิดในแอฟริกา ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวและชี้ขึ้นบน
กูปรีหากินตอนกลางคืน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ เมื่อถึงรุ่งเช้าก็จะกลับเข้าป่าทึบไป นอนพักผ่อนตอนบ่ายโดยจะล้อมกันเป็นวงเล็ก ๆ และแน่นหนา ตกเย็นจึงออกมาที่ทุ่งหญ้าหากินอีกครั้ง หากเป็นในฤดูฝนกูปรีอาจเข้าป่าทึบน้อยลงเนื่องจากเลี่ยงแมลงรบกวน อาหารได้แก่ ไผ่ (Arundinella spp), หญ้าข้าวเปลือก (Arundinella setosa) และหญ้าในสกุลหญ้าโรด (Chloris sp.) อาศัยกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมียและเด็ก ส่วนตัวผู้จะแยกออกไปรวมจับกลุ่มเป็นฝูงชายล้วนต่างหาก ในฤดูแล้งจึงมาร่วมฝูงกับตัวเมีย ฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีมีนิสัยตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง ชอบขุดดินและแทงตอไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่ปลายเขาแตกเป็นพู่ เปรียบเทียบกับวัวแดงแล้ว กูปรีตื่นตัวมากกว่าและมีท่วงท่าการวิ่งสง่างามกว่า บางครั้งกูปรีก็หากินร่วมกับวัวแดงและควายป่า ชอบลงโป่งและตาน้ำ เดินหากินคืนหนึ่งอาจไกลถึง 15 กิโลเมตร สมาชิกในฝูงมีการแยกออกและกลับมารวมกันอยู่เสมอ
กูปรีพบมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนามเท่านั้น อาศัยอยู่ในป่าเปิด ทุ่งหญ้าสลับป่าทึบ คาดว่าในฤดูฝนฝูงกูปรีจะอพยพขึ้นที่สูง
ในปี 2549 มีรายงานฉบับหนึ่งเปิดเผยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียของกูปรี พบว่าใกล้เคียงกับวัวแดงมาก ทำให้สันนิษฐานว่า แท้จริงกูปรีอาจเป็นเพียงลูกผสมระหว่างวัวแดงเลี้ยง กระทิง หรือวัวซีบู หาใช่สัตว์ชนิดหนึ่งแยกออกมาต่างหาก อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ภายต่อมายืนยันว่ากูปรีไม่ใช่ลูกผสม ผู้วิจัยในรายงานข้างต้นก็ยอมรับผลการวิเคราะห์ใหม่นี้เช่นกัน
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ออกลูกราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ตั้งท้องนาน 8-9 เดือน เมื่อถึงเวลาออกลูก แม่กูปรีจะปลีกออกจากฝูงไป ออกลูกครั้งละตัว เมื่อออกลูกแล้วได้หนึ่งเดือนก็จะกลับเข้าฝูงอีกครั้ง ลูกกูปรีมีสีส้มแดง แต่เมื่อโตขึ้นถึงหกเดือน สีตัวจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเทา และสีก็จะเข้มขึ้นตามอายุ ตัวผู้เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ตัวผู้ปลายเขาเริ่มแตกเป็นพู่เมื่ออายุได้ 3 ปี กูปรีมีอายุได้ราว 20 ปี
ปัจจุบันคาดว่าเหลือกูปรีอยู่ราว 100-300 ตัวเท่านั้น ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) ไซเตสจัดกูปรีไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ในประเทศไทยกูปรีเป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวน

ควายป่า
ควายป่ามีรูปร่างคล้ายควายบ้าน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก หนักได้ถึง 800-1,200 กิโลกรัมในขณะที่ควายบ้านมักหนักไม่ถึง 500 กิโลกรัม ลำตัวยาว 2.4-3 เมตร แข็งแรง มีวงเขากว้างได้ถึงกว่าสองเมตร กว้างที่สุดในบรรดาสัตว์จำพวกวัวควายทั้งหมด สีลำตัวดำ หรือเทาเข้ม ขาทั้งสี่สีขาวหรือสีเทาเหมือนใส่ถุงเท้า ที่หน้าอกมีเสี้ยวแบบพระจันทร์เสี้ยวสีขาวเหมือนใส่สร้อยคอ
ควายป่ามีนิสัยดุร้าย แม้จะมีขนาดใหญ่โตแต่ก็ปราดเปรียวมาก ชอบอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง ทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ กินหญ้าและพืชในน้ำเป็นอาหาร หากินเวลาเช้าและเย็น เวลากลางวันจะนอนในพุ่มไม้ที่รกทึบ หรือนอนแช่ปลัก บางครั้งอาจมุดหายไปในปลักทั้งตัวโดยโผล่จมูกขึ้นมาเท่านั้น การแช่ปลักนอกจากช่วยระบายความร้อนแล้ว ยังช่วยกำจัดแมลงรบกวนตามผิวหนังได้อีกด้วยปกติควายป่ามักชอบอยู่ที่ต่ำ แต่ในเนปาล ควายป่ามักพบในที่สูงถึง 2,800 เมตควายป่าอาศัยกันเป็นฝูงโดยมีสมาชิกในฝูงเป็นตัวเมียและควายเด็ก มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง ส่วนควายหนุ่มที่ไม่ได้ร่วมฝูงตัวเมียก็หากินโดยลำพัง หรืออาจรวมกลุ่มกันเป็นฝูงควายหนุ่มราวสิบตัว ในฤดูผสมพันธุ์จะอาศัยรวมฝูงกับตัวเมีย ควายหนุ่มจะมีการประลองกำลังกันเพื่อชิงสิทธิ์ในการครอบครองตัวเมีย แต่การต่อสู้นี้มักไม่ดุเดือดรุนแรงมากนัก เดิมควายป่ามีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของเนปาลและอินเดียมาจนถึงเวียดนาม ไปทางใต้จนถึงมาเลเซีย แต่ปัจจุบันพบได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ในอินเดียพบในอัสสัมและมัธยประเทศ ควายป่าในพื้นที่นี้อาจไม่มีสายเลือดควายป่าแท้หลงเหลืออยู่เลยก็ได้ เนื่องจากมีการผสมกับควายบ้าน ส่วนพวกที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติมานัสของภูฏานยังเป็นพันธุ์แท้อยู่ ในประเทศไทยคาดว่าเหลืออยู่เพียง 40-50 ตัวและพบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น จำนวนประชากรทั่วโลกอาจเหลือไม่ถึง 200 ตัว
ภัยคุกคามสำคัญที่สุดของควายป่าคือ การผสมข้ามพันธุ์กับควายบ้าน การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การล่า และการติดโรคและปรสิตที่ติดต่อมาจากควายบ้าน
ในฤดูฝน ควายป่าตัวผู้จะเริ่มเข้าฝูงตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ แต่ไม่ได้มาครอบครองฝูงหรือตัวเมียตัวใด ตัวเมียจะติดสัดเป็นเวลา 11 จนถึง 72 ชั่วโมง ควายตัวผู้จะตรวจสอบความพร้อมของตัวเมียด้วยการดมปัสสาวะและก้น หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้วตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูง แม่ควายป่าตั้งท้องนาน 300-340 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกควายหย่านมได้เมื่ออายุ 6-9 เดือน พออายุได้ 18 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในธรรมชาติควายป่ามีอายุขัยประมาณ 25 แต่ในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้ถึง 29 ปี

ละอง, ละมั่ง
ละองและละมั่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ละอง คือตัวผู้ ละมั่งคือตัวเมีย บางครั้งชาวบ้านก็เรียกทั้งตัวผู้และตัวเมียว่าละมั่ง ละองและละมั่งเป็นกวางขนาดกลาง เล็กกว่ากวางป่า ลักษณะทั่วไปใกล้เคียงกวางบาราซิงกาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เป็นกวางที่รูปร่างสวยงามมาก ความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 110 เซนติเมตร ความยาวหัว-ลำตัว 150-180 เซนติเมตร หนัก 150 กิโลกรัม หางยาว 20-30 เซนติเมตร ไม่มีวงก้น คอค่อนข้างเรียว ขนกลางสันหลังสีดำ ในฤดูร้อนขนมีสีน้ำตาลแดง แต่ในฤดูหนาวสีจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้ม ละองค่อนข้างสีเข้มกว่าละมั่งเล็กน้อย ขนหยาบ โดยเฉพาะบริเวณคอของละอง ละองมีเขาโค้งยาวไปด้านหลังแล้วตีวงม้วนมาด้านหน้า เขาบางตัวอาจยาวถึง 2 เมตร มีกิ่งสั้น ๆ ที่ปลายเขา ส่วนใหญ่มี 12 กิ่ง แต่บางตัวอาจมีมากถึง 20 กิ่ง กิ่งรับหมายาวมาก ผลัดเขาปีละครั้ง เขาจะโตเต็มที่เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์  ส่วนละมั่งตัวเล็กกว่าละอง และไม่มีเขา
ละองและละมั่งมีสามพันธุ์ ได้แก่พันธุ์อินเดีย หรือพันธุ์อัสสัม หรือพันธุ์มานิเปอร์ (C. e. eldii) พบในจังหวัดมานิเปอร์ของอินเดีย พันธุ์พม่า (C. e. thamin) พบในประเทศพม่า ตัวใหญ่กว่าพันธุ์อินเดีย และพันธุ์ไทย (C. e. siamensis) มีเขาแตกกิ่งมากที่สุด พบในประเทศไทยและจีน เคยมีผู้จำแนกละมั่งในเกาะไหหลำเป็นอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ พันธุ์ไหหลำ (C. e. hainanus) พันธุ์นี้เขาจะเล็กและไม่แตกกิ่ง แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นพันธุ์เดียวกับพันธุ์ไทย
สันนิษฐานว่ามีอุปนิสัยคล้ายกวางบาราซิงกา ละองและละมั่งรวมฝูงแยกเพศกัน แต่ละฝูงอาจมีมากถึง 50 ตัว ตัวผู้มีเขตหากินประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมีเขตหากินเพียงหนึ่งในสี่และอยู่ในพื้นที่ของตัวผู้ มักหากินตอนกลางคืน กินอาหารหลายชนิด เช่นพืชน้ำ หญ้า และยอดไม้ ชอบกินดินโป่งเช่นเดียวกับกวางป่า
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคมคือฤดูผสมพันธุ์ ฝูงละองจะเข้ามารวมกับฝูงละมั่ง ละองจะต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิในการผสมพันธุ์และครอบครองฝูงละมั่ง ละมั่งตั้งท้องนานราว 220 ถึง 240 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางแรกเกิดมีลายจุดทั่วตัว เมื่อโตขึ้นจุดบนลำตัวค่อยจางไป หย่านมเมื่ออายุได้ 7 เดือน เมื่ออายุ 18 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ละองและละมั่งมีอายุขัยราว 10 ปี
กวางชนิดนี้เคยพบตลอดตอนเหนือของอินเดียจนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินเดีย พม่า ไทย เวียดนาม และภาคใต้ของจีน แต่จำนวนประชากรได้ลดลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการล่า แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย กวางชนิดนี้ไม่ชอบป่าทึบ แต่ชอบป่าเปิดใกล้ลำธารหรือหนองน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็เหมาะแก่การเพาะปลูกเช่นกัน เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น พื้นที่หากินของละองและละมั่งก็ลดลงไป
ละมั่งพันธุ์อินเดียเหลืออยู่เพียง 200 ตัว พบในอุทยานแห่งชาติ เคบูล ส่วนพันธุ์พม่ายังเหลือประมาณ 2,000-3,000 ตัวกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยมีแหล่งขยายพันธุ์หลักอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแคตทิน ส่วนพันธุ์ไทยคาดว่ายังมีอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักและในเกาะไหหลำ จำนวนประชากรไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าเหลือน้อยมาก ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพประชากรของละองและละมั่งไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1

สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม
สมันเป็นกวางขนาดกลาง มีเขาสวยงามมากจนได้ชื่อว่าเป็นกวางที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก น้ำหนัก 100-120 กิโลกรัมมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ 104 เซนติเมตร หางยาว 10 เซนติเมตร ขนหยาบสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างลำตัวและบริเวณแก้มจางกว่า บริเวณจมูกสีเข้มหรือสีดำ สีบริเวณขาและหน้าผากค่อนข้างอมแดง ใต้หางสีขาว ขนแผงคอยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
เขาสมันตีวงกว้าง โค้ง และแตกกิ่งมาก ดูเหมือนสุ่มหงาย จึงมีชื่ออีกชื่อว่า "กวางเขาสุ่ม" กิ่งรับหมา (brow tine) ยาวและชี้มาด้านหน้าเป็นมุม 60 องศากับใบหน้า กิ่งอื่นยาวกิ่งละประมาณ 30 เซนติเมตร ลำเขา (beam) ตั้งฉากกับกิ่งรับหมา ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร การแตกกิ่งมักจะแตกออกเป็นสองกิ่งเสมอ โดยเฉลี่ยเขาแต่ละข้างมีจำนวนกิ่งทั้งสิ้น 8-9 กิ่ง ความยาวเฉลี่ยของเขา 65 เซนติเมตร เคยมีบันทึกว่ามีสมันที่เขาแตกกิ่งมากถึง 33 กิ่ง
สมันตัวเมียไม่มีเขา และลักษณะคล้ายละมั่งมาก ชาวบ้านบางท้องที่จึงมีความเชื่อว่าสมันมีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น และเมื่อสมันตัวผู้ผสมพันธุ์กับละมั่งจะให้ลูกเป็นสมันหรือละมั่งก็ได้
สมันอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ประกอบด้วยตัวผู้เต็มวัยหนึ่งตัว ที่เหลือคือเหล่าตัวเมียและลูกกวาง ตอนกลางวันสมันมักหลับพักผ่อนอยู่ในร่มไม้หรือดงหญ้าสูง ออกหากินเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้า อาหารหลักคือหญ้า ชอบอยู่ในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้าน้ำแฉะ ไม่ชอบป่าทึบ เมื่อฤดูน้ำหลาก สมันจึงต้องหนีไปอยู่บนเนินที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งกลายเป็นเกาะกลางทุ่ง ในช่วงนี้จึงตกเป็นเป้าของพรานได้ง่าย
สมันเป็นสัตว์สัญชาติไทยโดยแท้จริง เพราะพบได้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กระจายพันธุ์อยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมุทรปราการขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตะวันออกสุดถึงจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา ทางตะวันตกพบถึงสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
จากการล่าและการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนทุ่งหญ้าธรรมชาติมาเป็นไร่นา ทำให้ประชากรสมันลดจำนวนลงจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในปี พ.ศ.2475 มีบันทึกว่าสมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวผู้ที่มีเขาสวยงาม ถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสมันในกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่น่าเศร้าที่การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำไม่สำเร็จ จึงไม่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นได้อีก สมันตัวสุดท้ายในโลกเป็นสมันตัวผู้ที่เลี้ยงอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แม้กระนั้นก็ไม่ได้ตายอย่างสงบ เพราะถูกชายขี้เมาคนหนึ่งตีตายในปี 2481 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นสมันอีกเลย แม้จะมีข่าวลือว่าพบสมันอีกในที่ต่าง ๆ แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ ซากที่สมบูรณ์ของสมันมีเพียงซากเดียวเท่านั้น เก็บอยู่ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นซากของสมันตัวที่อาศัยอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ (Jardin des Plantes) ในปี 2410
ก่อนหน้าที่สมันจะสูญพันธุ์ มีความพยายามจากจากชาวต่างชาติในการจับมาเพาะเลี้ยง แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ให้ความร่วมมือและไม่ให้ความสำคัญ
ปัจจุบันสมันยังมีชื่อเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เนื่องจากการคุ้มครองมีผลไปถึงซากด้วย

กวางผา, ม้าเทวดา
กวางผาเป็นสัตว์ตระกูลแพะเช่นเดียวกับเลียงผา รูปร่างทั่วไปคล้ายเลียงผา แต่กวางผามีขนาดเล็กกว่าราวครึ่งหนึ่ง มีคอเล็กกว่า หางยาวกว่า และขาสั้นกว่า ต่อมหัวตาที่เป็นช่องเปิดระหว่างจมูกและตาของกวางผาเล็กมาก กระดูกจมูกของกวางผาเป็นคนละชิ้นกับกระดูกหน้า ซึ่งต่างจากเลียงผา กวางผาในเมืองไทยมีความยาวลำตัว 80-120 เซนติเมตร หางยาว 7-20 เซนติเมตร หูยาว 10-14 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 50-70 เซนติเมตร หนักราว 22-32 กิโลกรัม
ขนกวางผาหยาบยาวสีน้ำตาลอมเทา ขนหางฟูและดำ ใต้คางและอกมีสีน้ำตาลเข้มมีลายจาง ๆ บริเวณต้นขาสีเข้มและค่อย ๆ จางลงเมื่อไล่ลงไปถึงปลายขา เขาสีดำเขาโค้งไปด้านหลัง กวางผาตัวเมียมักมีสีจางกว่าตัวผู้ เขาสั้นกว่าและมีพาลีไม่เด่นชัดเท่าตัวผู้
กวางผาอาศัยอยู่บนภูเขาสูง พบที่ระดับความสูง 3,300-13,500 ฟุตที่เป็นหน้าผาที่มีพืชขึ้นเป็นหย่อมและมีหลืบหินสำหรับหลบซ่อน อาศัยเป็นฝูงครอบครัวเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 ตัว ส่วนตัวผู้จะหากินโดยลำพังยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น
เขตกระจายพันธุ์แพร่ตั้งแต่เขตอัลซูรีในรัสเซีย แมนจูเรีย จีน เกาหลี ลงมาจนถึงพม่า และตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ปัจจุบันในเมืองไทยพบกวางผาเฉพาะในเทือกเขาที่เป็นต้นน้ำปิงเท่านั้น
กวางผากินหญ้า ใบไม้ และผลไม้เป็นอาหาร มีสายตาดี จึงพึ่งพาประสาทการมองมากกว่าประสาทรับกลิ่นหรือประสาทรับฟัง ซึ่งต่างจากสัตว์หากินเป็นฝูงชนิดอื่น เมื่อตกใจกลัวจะทำตัวแข็งทื่อ หากภัยอันตรายเข้าใกล้ตัวมากจึงวิ่งหนีไป
ฤดูผสมพันธุ์ของกวางผาอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ตั้งท้องนานประมาณ 6 สัปดาห์ ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางผาจะอยู่กับแม่เป็นเวลาประมาณ 6 เดือนแล้วจึงแยกย้ายไป พอถึงวัย 2-3 ขวบก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว อายุขัยประมาณ 8-10 ปี
เนื่องจากกวางผาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงมีศัตรูในธรรมชาติน้อยมาก นอกจากเสือไฟเท่านั้น อย่างไรก็ตามกวางผาต้องประสบภัยคุกคามจากการล่าของมนุษย์ และการบุกรุกถางป่าก็ทำให้กวางผาไม่มีที่อยู่อาศัยจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
กวางผาเป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้อยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2547)

นกแต้วแล้วท้องดำ
นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแล้ว 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องแต้มสีดำสมชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น
นกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางใต้ของพม่าที่ติดต่อกับประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จังหวัดกระบี่เพียงแห่งเดียว
นกแต้วแล้วหากินด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน
นกตัวผู้จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า ท-รับแต่ถ้าตกใจนกร้องเสียง แต้ว แต้วเว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดัง "ฮุ ฮุ"
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง
ภัยคุกคามหลักต่อนกแต้วแล้วท้องดำคือการบุกรุกป่าจากการทำไม้และการถากถางเพื่อทำการเกษตร การที่นกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่ป่าที่ราบต่ำซึ่งเหมาะในการทำไร่ จึงยิ่งทำให้ถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การลักลอบจับนกมาขายก็เป็นภัยที่ร้ายแรงเช่นกัน เพราะผู้คนทางภาคใต้ของไทยนิยมการเลี้ยงนกไว้ในกรง ดังจะเห็นจากการพบบ่วงดักนกจำนวนมากวางอยู่ตามชายป่าเขานอจู้จี้
ปัจจุบันสถานภาพของนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2529 เคยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น เป็นหนึ่งในสัตว์สงวน 15 ชนิดของไทย ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไอยูซีเอ็นเคยประเมินสถานภาพไว้ว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในพม่ามากขึ้น ในปี 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น ใกล้สูญพันธุ์ (EN)

นกกระเรียน
นกกระเรียน เป็นนกในตระกูลนกกระเรียนที่สูงที่สุด และเป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 176 เซนติเมตร หนัก 6.35 กิโลกรัม ปีกกว้าง 240 เซนติเมตร ลำตัวสีเทาอ่อน กระหม่อมไม่มีขน มีหนังเปลือยเปล่าสีอมเขียว ส่วนคอและใบหน้าเปลือยเปล่า หนังขุขระสีแดงหรือส้ม ที่หูมีกระจุกขนสีขาวอมเทาขนาดเล็ก
นกกระเรียนพันธุ์อินเดีย (G. a. antigone) มีขนรอบคอสีขาว ขาและนิ้วสีแดง ตัวผู้และตัวเมียลักษณะเกือบเหมือนกัน ตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย พันธุ์อินเดียกระจายพันธุ์อยู่ในที่ราบทางเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกของที่ราบต่ำทีไร (Terai) ในประเทศเนปาล พบบ้างในประเทศปากีสถาน นกกระเรียนที่พบในประเทศไทยคือนกกระเรียนพันธุ์ตะวันออก (G. a. sharpii) เคยอาศัยอยู่ทั่วไปในคาบสุมทรอินโดจีน แต่ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาจำนวนได้ลดลงอย่างมาก ปัจจุบันเหลืออยู่บ้างในประเทศพม่า เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนในมณฑลยูนนานของประเทศจีนและประเทศลาวอาจเหลือน้อยมากหรืออาจหมดไปแล้ว ส่วนในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 20 แล้ว นกกระเรียนอีกพันธุ์หนึ่งคือนกกระเรียนพันธุ์ออสเตรเลีย (G. a. gilli) อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
นกกระเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายประเภท แต่พื้นที่ที่ชอบที่สุดได้แก่หนองน้ำขนาดเล็กที่มีเฉพาะฤดูกาล พื้นที่ราบที่ถูกน้ำท่วม พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมาก ไร่ที่เพิ่งไถ และทุ่งนา ชอบกินหัวพืชใต้ดิน และกินสัตว์ขนาดเล็กด้วย
ในประเทศอินเดีย นกกระเรียนส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น แต่นกกระเรียนในอินโดจีนและออสเตรเลียอาจมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล นกกระเรียนอินเดียค่อนข้างปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ดี นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่อยู่ในบางส่วนของประเทศพม่าก็ปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ดีเช่นกัน
การเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียนน่าชมและน่าฟังมาก นกกระเรียนทุกชนิดจะขับร้องเพลงเป็นเพลงเสียงประสาน น้ำเสียงของตัวผู้และตัวเมียต่างกันแต่ร้องในทำนองเดียวกันและประสานกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งคู่จะทำท่าทางเหมือนเต้นรำโดยแอ่นคอโค้งไปด้านหลังจนปากชี้ฟ้าและส่งเสียงร้อง ขณะเต้นรำตัวผู้จะเหยียดปีกลู่ไปด้านหลัง ส่วนตัวเมียจะเก็บปีกไว้เสมอ นอกจากการเต้นรำแล้วนกกระเรียนอาจแสดงกริยาอย่างอื่นอีกเช่น กระโดด วิ่ง ก้มหัว จิกหรือพุ้ยหญ้า และกระพือปีก
สถานที่ทำรังของนกกระเรียนมีหลายที่ เช่น ข้างลำคลอง กลางทุ่งนา บางครั้งทำรังอยู่บนที่น้ำตื้นที่มีพืชน้ำโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ในอินเดียนกกระเรียนทำรังด้วยต้นข้าวในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง
แม่นกมักวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่เป็นเวลาประมาณ 31-34 วัน ระหว่างนี้ตัวผู้มักต้องรับบทเป็นผู้ปกป้องรังจากอันตรายรอบด้านด้วย ลูกนกจะเริ่มบินได้เมื่ออายุได้ 50-65 วัน
ภัยหลักที่คุกคามนกกระเรียนคือการที่พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย การลักลอบจับลูกนกไปขายก็ทำให้จำนวนของนกกระเรียนลดลง ปัจจุบันคาดว่าจำนวนประชากรนกกระเรียนในโลกอยู่ในช่วง 15,500-20,000 ตัว มีแนวโน้มลดลงและเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดนกกระเรียนไว้ในบัญชีหมายเลขสอง เป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย

 แมวลายหินอ่อน

ลักษณะทั่วไป

แมวลายหินอ่อนเป็นแมวขนาดเล็ก ขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้านทั่วไป มีลวดลายและสีสันคล้ายกับเสือลายเมฆ ในภาษาจีนคำเรียกแมวลายหินอ่อนก็มีความหมายว่า เสือลายเมฆเล็ก มีแต้มใหญ่ ๆ ขอบสีดำแบบเดียวกับเสือลายเมฆ แต่แต้มแต่ละแต้มอาจมีขอบไม่ครบวงหรือซ้อนเหลื่อมกัน มีสีสันหลายแบบ ตั้งแต่เหลืองซีดจนถึงน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลอมแดง มีเส้นสีดำแคบ ๆ พาดผ่านกระหม่อม คอ และหลัง ขนนุ่มแน่นและมีขนชั้นในที่พัฒนาดี ส่วนล่างของลำตัวมีสีเทาอ่อนหรือขาวและมีจุดสีดำ จุดสีดำใต้ลำตัวนี้มีมากกว่าและเล็กกว่าของเสือลายเมฆ หัวสั้นกลมกว่าแมวชนิดอื่น ๆ มีแถบสีดำข้างละ 3 แถบ หน้าผากกว้าง รูม่านตากว้าง สีน้ำตาล หูกลมสั้นสีดำมีจุดสีขาวที่หลังหู ขาค่อนข้างสั้นและมีจุดดำอยู่มาก ฝ่าตีนกว้าง หางฟู ยาวประมาณ 48-55 ซม. ซึ่งยาวเท่ากับลำตัวรวมกับหัวหรืออาจจะยาวกว่าเสียอีก มีจุดสีดำตลอดความยาวหาง ปลายหางสีดำ
แมวลายหินอ่อนมีเสียงร้องเมี้ยวใกล้เคียงกับแมวบ้านแต่ก็คล้ายกับเสียงร้องจิ๊บถี่ ๆ ของนก ครางไม่บ่อยนัก

ชนิดย่อย

P. m. charltoni - เนปาล
P. m. marmorata - ป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต้นกำเนิด

แมวลายหินอ่อนมีวิวัฒนาการมาอย่างไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด นักสัตววิทยาหลายคนเชื่อว่าแมวลายหินอ่อนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกับเสือลายเมฆ แม้ว่าแมวลายหินอ่อนเบากว่าเสือลายเมฆถึง 3 เท่าก็ตาม เขี้ยวบนของแมวลายหินอ่อนมีขนาดใหญ่เหมือนกับเสือลายเมฆ แต่มีกระโหลกสั้นและกลมกว่า นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางโครโมโซมเหมือนกับพวกลิงซ์ เสือ และเสือดาวหิมะอีกด้วย
เมื่อราวสิบล้านปีก่อน แมวลายหินอ่อนอาจมีรูปร่างคล้ายกับบรรพบุรุษของเสือ แต่การแข่งขันกับเสือชนิดอื่นทำให้ลดขนาดลงในเวลาต่อมา

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของแมวลายหินอ่อนเริ่มตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เรื่อยมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงบอร์เนียวและสุมาตรา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าทึบ บนภูเขาสูงในเนปาลจนถึงป่าที่ราบต่ำในบอร์เนียว ในประเทศไทย แมวลายหินอ่อนจะพบได้ในป่ารอยต่อระหว่างป่าเบณจพรรณกับป่าดิบ แต่จะไม่พบในป่าผสมระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าเบญจพรรณ ในซาราวัก มีรายงานการพบเห็นในพื้นที่โล่งเตียนบ่อยครั้ง และมักพบในที่ต่ำมากกว่าบนภูเขา ในรัฐซาบาห์มีผู้พบเห็นแมวลายหินอ่อนในป่าที่มีการทำไม้มาแล้ว 6 ปี ในบอร์เนียว รายงานการพบเห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าเต็งรัง และเคยพบตัวหนึ่งอยู่บนหาดทรายในป่าชายเลนที่มีหญ้าและสนแคชัวรีนาขึ้น เคยมีแมวลายหินอ่อนตัวหนึ่งทางตอนใต้ของบอร์เนียวถูกจับได้ในเล้าไก่ใกล้กับแม่น้ำบาริโต ซึ่งล้อมรอบไปด้วยไร่และสวนยาง ไม่มีป่าอยู่บริเวณข้างเคียงเลย ในแถบประเทศเนปาล พบแมวลายหินอ่อนน้อยมาก มีการพบเห็นในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ในปี 2524 มีผู้พบเห็นทางตะวันตกของอุทยานแห่งชาติจิตวัน แต่ไม่เคยมีการพบเห็นในอุทยานแห่งชาติจิตวันเลย ในประเทศจีน มีการเก็บตัวอย่างได้ในทศวรรษ 1970 ที่ยูนนาน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้พบเห็นที่มณฑลกวางสี ในอินเดีย เขตกระจายพันธุ์จะจำกัดอยู่เพียงตีนเขาหิมาลัยระหว่างความสูง 1,500-3,000 เมตรเท่านั้น จากรายงานเหล่านี้ แสดงว่าแมวลายหินอ่อนสามารถปรับตัวให้เขากับป่าหลายประเภท ตั้งแต่ป่าเชิงเขาฮิมาลัยจนถึงป่าเขตร้อนในมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะพบในป่าร้อนชื้น เนื่องจากแมวลายหินอ่อนมีจำนวนน้อยมาก เราจึงยังไม่ทราบลักษณะของป่าที่แมวลายหินอ่อนชอบที่สุด

อุปนิสัย

ด้วยความที่เป็นสัตว์หายาก เราจึงรู้จักแมวลายหินอ่อนน้อยมาก ทั้งทางด้านอุปนิสัย อาหาร และชีววิทยา แต่เป็นที่เชื่อว่า แมวลายหินอ่อนหากินกลางคืน อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว จับกระรอก ค้างคาวผลไม้ หนู นก สัตว์เลื้อยคลาน กบ และแมลง ซึ่งสนับสนุนโดยโครงสร้างของตีน ซึ่งไม่มีลักษณะของการปรับตัวเพื่อหากินบนพื้นดินเลย ขาที่สั้น และหางที่ยาว มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่ม มีปลอกเล็บคู่ ในขณะที่นั่ง มันจะหดหัวเล็กน้อยและงอหลัง จากรายงานการพบเห็นแมวลายหินอ่อนที่มีอยู่เพียงไม่กี่ครั้งในบูกิตซูฮาร์โตในกาลิมันตันพบว่ามันออกหากินในช่วงเวลา 20-22 น. จากการผ่านกระเพาะแมวลายหินอ่อนตัวหนึ่งที่ถูกยิงในซาบาห์พบเศษของหนูขนาดเล็ก และมีผู้เคยพบเห็นแมวลายหินอ่อนย่องจับนกบนต้นไม้ นอกจากนี้ยังพบว่ากระรอกก็ถูกจับเป็นอาหารเหมือนกัน แมวลายหินอ่อนถูกจัดให้เป็นตัวแทนของมาร์เกย์ที่อยู่ในอเมริกากลางและใต้
อย่างไรก็ตาม เคยมีอีกบันทึกหนึ่งที่รายงานว่าถึงแม้ว่าแมวลายหินอ่อนจะอาศัยอยู่บนต้นไม้ แต่เวลาหากินจะจับสัตว์บนพื้นดินกินเป็นส่วนใหญ่

ชีววิทยา

ปัจจุบันมีแมวลายหินอ่อนในกรงเลี้ยงไม่มากนัก การผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงประสบความสำเร็จน้อยมาก ครั้งหนึ่งเคยมีแมวลายหินอ่อนในสวนสัตว์ผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกมาหลายตัว แต่ลูกทั้งหมดล้วนมาจากพ่อแม่แมวเพียงคู่เดียว และต้องมีคนช่วยในการออกลูก จากการศึกษาแมวในกรงเลี้ยง แมวลายหินอ่อนตั้งท้องนานประมาณ 81 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 100-115 กรัม หูเริ่มตั้งเมื่ออายุได้ 5 วัน ลืมตาได้เมื่ออายุ 14 วัน เมื่ออายุได้ 21 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แมวในกรงเลี้ยงที่อายุยืนที่สุดมีอายุ 12 ปี

ภัยที่คุกคาม

แมวลายหินอ่อนเป็นสัตว์สวยงาม เป็นที่ต้องการของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ป่า จึงมีการลักลอบค้าขายแมวลายหินอ่อนในตลาดมืด ลูกแมวลายหินอ่อนมีรูปร่างคล้ายกับลูกแมวบ้านมาก ทำให้การขนย้ายออกต่างประเทศทำได้โดยง่าย ผู้ลัก ลอบขนสัตว์ป่าสามารถนำลูกแมวใส่กรงธรรมดาแล้วทำใบอนุญาตตีตราว่าเป็นแมวบ้านได้โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ทันทราบ สิ่งนี้เป็นเหตุหนึ่งให้จำนวนแมวลายหินอ่อนลดลง อย่างไรก็ตาม การทำลายป่าไม้ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยยังคงเป็นหาเหตุหลักของการลดจำนวนลงของแมวลายหินอ่อน

สถานภาพ

เชื่อว่า แมวลายหินอ่อนเป็นแมวที่มีประชากรเป็นจำนวนน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แม้แต่ในยุคอดีต ก็ไม่เคยมีช่วงใดที่มีประชากรมากเลย นอกจากนี้ ความที่เป็นสัตว์หากินเฉพาะตอนกลางคืนและอาศัยอยู่บนเรือนยอด ยิ่งทำให้พบเห็นได้ยาก จึงมีการศึกษาชีวิตของแมวลายหินอ่อนน้อยมาก การที่อาศัยอยู่ในป่าทึบทำให้มันมีความเปราะบางจากการตัดไม้ทำลายป่าดังที่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเชื่อว่าปัจจุบันแมวลายหินอ่อนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ไซเตสได้บรรจุชื่อของแมวป่าหัวแบนไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ไอยูซีเอ็น: เสี่ยงสูญพันธุ์ (2007)

ประเทศที่ห้ามล่า

บังกลาเทศ จีน (เฉพาะยูนนาน) อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย

 ควบคุมการล่า

ลาว สิงคโปร์

ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์

ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม

สมเสร็จ
                ชื่อทางภาษาอังกฤษของสมเสร็จ(Tapir)มีต้นตอมาจากภาษาอังกฤษของพวกอินเดียในบราซิลว่า “Tapi” ถือได้ว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณมากที่ สุดในโลก เช่นลักษณะและจำนวนกีบเท้ากะโหลกศีรษะที่สั้นแคบ และฟันที่ยังไม่พัฒนาอย่างฟันของแรดและม้ามีจำนวนฟัน42-44ซี่
               บรรพบุรุษ ของสมเสร็จมีต้นกำเนิดอยู่ในแถบซีกโลกเหนือในยุค Miocene มีวิวัฒนาการมาประมาณ 20 ล้านปี ลักษณะของต้นตระกูลสมเสร็จมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก พบว่าลักษณะของสมเสร็จนั้นคล้ายกับสมเสร็จในเอเชียในปัจจุบัน
               ปัจจุบัน พวกสมเสร็จจัดอยู่ในสกุลเดียวกันหมดคือ Yapirus จำแนกออกเป็น 4 ชนิด เป็นสมเสร็จของเอเชีย 1 ชนิดคือ สมเสร็จที่พบในประเทศไทยอีก 3 ชนิด มีถิ่นที่อยู่ในทวีปอเมริกา ได้แก่ สมเสร็จบราซิล (T.terretris) พบในแถบเทือกเขาแอนดิสของอเมริกาใต้ สมเสร็จภูเขา (T.pinchaque) พบในแถบเทือกเขาแอนดิสของอเมริกาใต้ และสมเสร็จเบร์ด (T.bairdi) ในแถบอเมริกากลาง ทั้งนี้ลักษณะของสมเสร็จสายพันธุ์ทางทวีปอเมริกา ขนตามตัวเป็นสีน้ำตาลคล้ำทั้งตัว ไม่มีเป็นขนสีขาว ช่วงกลางของละองลำตัวอย่างสมเสร็จเอเซีย งวงสั้นกว่ามีแผงขนคอยาวและมีขนาดเล็กกว่าสมเสร็จเอเชียมาก
               สมเสร็จจัดอยู่ในพวกสัตว์กีบคี่ เช่นเดียวกับแรดและกระซู่ เนื่องจากมีลักษณะของนิ้วเท้าเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นกีบแแข็ง เท้าหลังมีกีบนิ้วข้างละ 3 กีบ คล้ายกับของแรดและกระซู่ แต่เท้าหน้ามีกีบนิ้วข้างละ4กีบ
               กีบ นิ้วที่ 4 หรือนิ้วก้อยของเท้าหน้ามีขนาดเล็กกว่า และตำแหน่งของกีบแยกอยู่ด้านข้างระดันเหนือกีบนิ้วอื่น ๆ คล้ายเป็นกีบนิ้วส่วนเกินหรือกีบแขนง ปกติจึงไม่ค่อยได้ใช้รับน้ำหนักตัวอย่างกีบนิ้วหลัก 3 นิ้ว ที่เป็นแกนกลางของเท้าหน้า คาดว่าวิวัฒนาการต่อๆ ไปกีบนิ้วที่ 4 นี้ จะค่อย ๆ ลดขนาดหมดไปในที่สุด
ลักษณะ
รูปร่างของสมเสร็จ คล้ายกับนำเอาลักษณะของสัตว์หลายๆ ชนิดมาผสมไว้ในตัว เดียวกัน มีจมูกและริมฝีปากบนยื่นออกมาและยืดหดได้ ลักษณะคล้ายงวงช้างยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ใช้ปลายงวงจับฉวยสิ่งของไม่ได้อย่างงวงช้าง ลำตัวอ้วนใหญ่ ตาเล็กและ ใบหูตั้งรูปไข่คล้ายกับหมู หางสั้นจู๋คล้ายหางหมีขาสั้นใหญ่เทอะทะและมีกีบนิ้วแบนใหญ่คล้ายแรดทำให้ได้ชื่อเรียกว่า"ผสมเสร็จหรือสมเสร็จ"
นอก จากนี้ส่วนหลังของสมเสร็จจะโก่งนูน ช่วงบั้นท้ายสูงกว่าท่อนหัวประมาณ 10 เซนติเมตร มองดูลักษณะคล้ายสัตว์พิการหลังค่อม ขนตามตัวสั้นเกรียน สีขนตั้งแต่บริเวณรักแร้ไปตลอดท่อนหัวสีดำ ช่วงกลางลำตัวไปถึง บั้นท้าย และเหนือโคนขาหลังสีขาวปลอด ถัดจากโคนขาหลังลงไป ตลอดถึงปลายเท้าสีดำอย่างท่อนหัวดูลักษณะคล้ายนุ่งกางเกงในรัดรูปสีขาว ลูก สมเสร็จแรกเกิดสีขนดำทั้งตัว แต่มีริ้วลายสีขาวทั้งตัวคล้ายลายลูกแตงไทย เมื่อโตขึ้นลายและสีขนเปลี่ยนเป็นแบบตัวโต เต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป สมเสร็จเป็นสัตว์กีบคี่เช่นเดียวกับแรดและกระซู่ แต่ไม่มีนอ หรือเขาบนจมูก หนังตามตัว ไม่หนาเป็นรอยพับย่นอย่างแรดและกระซู่ มีแต่แผ่นหนังแข็งหนาบริเวณก้านคอ ทำให้สมเสร็จมุดป่ารกทึบได้ดี และยังช่วยป้องกันอันตรายจากเสือโคร่ง ที่ชอบตะปบกัด ที่ก้านคอของเหยื่อจนคอหักตาย
เท้า หลังของสมเสร็จมีกีบนิ้ว 3 กีบคล้ายแรด เหมาะสำหรับรองรับน้ำหนักตัวของ ช่วงบั้นท้าย ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าท่อนหัว ส่วนเท้าหน้ามีกีบนิ้ว 4 กีบ ลักษณะกีบนิ้วของสมเสร็จ ค่อนข้างแหลมและนิ้วแยกจากกัน ส่วนกีบนิ้วของแรดจะมนป้านกว่าและติดกัน จะแยกกันเฉพาะปลายกีบนิ้ว ลักษณะรอยเท้าของสมเสร็จจึงแตกต่างจากรอยเท้าแรด โดยพิจารณาได้จากรอยระหว่างร่องกีบนิ้ว แต่ละกีบหยักลึกกว่าปกติจะเห็นรอยเท้าหน้ามี 4 กีบ รอยเท้าหลังมี 3 กีบ ปลายกีบแต่ละกีบค่อนข้างยาวแหลม แต่ถ้าเป็นรอยเท้าตามพื้นดินแข็งๆ อาจไม่เห็นรอยกีบนิ้วที่ 4 ของเท้าหน้า เนื่องจากมีขนาดเล็กและแยกยกสูงกว่ากีบนิ้วที่เหลือ  สมเสร็จไทยหรือ สมเสร็จเอเซีย มีขนาดใหญ่กว่าสมเสร็จพันธุ์อเมริกา และโดยเฉลี่ย แล้ว ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ขนาดตัวประมาณ 2.2-2.4 เมตร ส่วนสูงที่ไหล่ประมาณ 1เมตรหางยาวประมาณ5-10เซนติเมตรน้ำหนักตัวประมาณ250-300กิโลกรัม
อุปนิสัย
นิสัยทั่วไปของสมเสร็จคล้ายกับแรด ชอบใช้ชีวิตสันโดษตามลำพัง อาศัยอยู่ตามป่าดิบ รกทึบ และเย็นชื้นไม่ชอบอากาศร้อน จึงมักอาศัยอยู่ใกล้ ๆ แหล่งน้ำ ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง เชื่อว่า สมเสร็จสามารถกบดานและเดินไปตามพื้นใต้น้ำได้ คล้ายกับฮิปโปโปเตมัสของแอฟริกา แต่ไม่ชอบนอนแช่ปลักโคลนอย่างแรดอีกทั้งมักถ่ายมูลรวมๆไว้เป็นที่เป็นทาง
การ ดำรงชีวิตใช้จมูกดมกลิ่นและใช้หูฟังเสียง มากกว่าจะใช้ตามองดู เนื่องจากตามีขนาดเล็ก และอยู่ด้านข้างของหัว สายตาของสมเสร็จจึงไม่ดี มองเห็นภาพได้ไม่ไกลนัก ปกติออกหากินตอนกลางคืน มักไม่ค่อยชอบเดินหากินตามทางด่านสัตว์เก่าๆ แต่จะชอบเลือก หาทางใหม่ โดยการก้มหัวลงต่ำใช้จมูกที่เป็นงวงดมกลิ่นนำทาง และใช้หนังคอที่ด้าน แข็ง ดันมุดเปิดทาง เที่ยวเดินซอกแซกหาแทะเล็มใบไม้ หน่อไม้ และลูกไม้ที่หล่นตามพื้นป่ากิน อย่างเงียบๆ แต่เมื่อถูกรบกวนหรือตื่นตกใจจึงจะร้องเสียงแหลมเบาๆคล้ายเสียงเด็กเล็ก แล้ววิ่งมุดรกหาทางหนีกลับแหล่งน้ำใกล้ที่สุดอย่างรวดเร็ว สามารถหลบหนีศัตรูลงน้ำแล้วกบดานอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานานๆจนพ้นภัยจึงจะโผล่ขึ้นมา
การสืบพันธุ์
ฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ของสมเสร็จอยู่ในช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคม ผสมพันธุ์กันในน้ำ ระยะตั้งท้องนาน 390 – 395 วัน ออกลูกท้องละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวประมาณ 6 – 7 กิโลกรัม ลักษณะมีลายพร้อยเป็นลูกแตงไทยทั้งตัว แม่จะเฝ้าเลี้ยงดูลูกจนอายุประมาณ 6 – 8 เดือน ขนาดของลูกจะโตเกือบเท่าแม่ ลายแตงไทยตามตัวจางหายไป เปลี่ยนเป็นสีดำสลับขาวอย่างพ่อแม่ จะย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้อายุประมาณ 2 – 3 ปีขึ้นไป ตัวเมียมักจะมีการผสมพันธุ์และตั้งท้องได้ทุก2ปีอายุยืนประมาณ30ปี
ที่อยู่อาศัย
สมเสร็จชอบอยู่เฉพาะในป่าที่ร่มครึ้มใกล้ห้วยหรือลำธารในประเทศไทยมีพบ แหล่งที่อยู่อาศัยของสมเสร็จแถบภาคตะวันตกบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งถือได้ว่าเป็นเขตการกระจายพันธุ์สูง และเหนือสุดของสมเสร็จถัดใต้ลงมาพบถิ่นอาศัยของสมเสร็จในแถบเทือกเขาถนนธงชัยและป่าดิบชื้นภาคใต้ทั่วๆไปจดประเทศมาเลเซีย
สถานภาพ
ปัจจุบันสมเสร็จเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย (ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535) และอนุสัญญา CITES จัดสมเสร็จไว้ใน Appendix I และเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตามU.S.EndengeredSpeciesAct.
สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์
พวกพรานป่านิยมล่าสมเสร็จเพื่อเอาเนื้อและหนัง เพราะมีขนาดให้ เนื้อรสขาดดี คล้ายเนื้อหมู และนิสัยไม่ดุร้ายเป็นอันตราย จึงล่าได้ง่าย นอกจากนี้การบุกรุกทำลายป่าดิบชื้นของภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่อาศัยสำคัญและจำเป็นของสมเสร็จ เป็นผลให้ประชากรของสมเสร็จลดน้อยลงอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก

เก้งหม้อ, กวางเขาจุก
เก้งหม้อมีลักษณะทั่วไปคล้ายเก้งธรรมดาแต่สีเข้มกว่า หนักประมาณ 18-21 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 88 เซนติเมตร สีตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง สันหลังเข้มกว่าที่อื่น ๆ หน้าท้องสีขาว หางยาว 23 เซนติเมตร หางด้านบนสีดำ ใต้หางสีขาว ขาท่อนล่างจนถึงกีบสีดำ หน้าสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีดำลากจากโคนเขามาจนถึงหัวตาดูเป็นรูปตัววี ใบหูไม่มีขน มีต่อมน้ำตาใหญ่ยาว ปลายด้านชี้ไปที่ลูกตามีขอบนูนสูง เก้งหม้อตัวผู้มีเขี้ยวยาวไว้ใช้ต่อสู้ เขี้ยวโค้งออกด้านหน้าเช่นเดียวกับเก้งทั่วไป
เก้งหม้อตัวผู้มีเขาสั้น เขาแต่ละข้างมีสองกิ่ง กิ่งหน้าสั้นกว่ากิ่งหลัง โคนเขามีขนดำหนาคลุมรอบ ระหว่างโคนเขามีขนสีเหลืองฟูเป็นกระจุก จึงมีชื่ออีกชื่อว่ากวางเขาจุก
เก้งหม้ออาศัยอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรีชายแดนไทย-พม่า ในประเทศไทยพบที่ตาก ราชบุรี สุราฎร์ธานี ไม่พบในคาบสมุทรมลายู แต่คาดว่าน่าจะพบในลาวและเวียดนามด้วย มักพบอยู่ในป่าดิบทึบบนภูเขา ในประเทศจีนพบอยู่ในป่าบนภูเขาที่มีป่าสนกับป่าพืชใบกว้างหรือป่าไม้พุ่มผสมกันที่ระดับความสูง 2,500 เมตร
เก้งหม้อหากินตอนกลางวันและโดยลำพังตามพื้นที่เปิดโล่งระหว่างแหล่งน้ำ กินหญ้า ใบไม้ และผลไม้ที่ตกบนพื้น
แม่เก้งหม้อตั้งท้องนาน 180 วัน ออกลูกตามพุ่มไม้ทึบ ลูกเก้งจะซ่อนอยู่ในพุ่มไม้จนกระทั่งเริ่มจะเดินตามแม่ได้
คาดว่าประชากรเก้งหม้อมีจำนวนน้อยมาตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว ยิ่งในปัจจุบันเก้งหม้อประสบภัยคุกคามมากขึ้นทั้งจากการล่าเพื่อนำไปทำอาหาร และที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ป่าที่อยู่ของเก้งหม้อหลายพื้นที่ได้สูญหายไปตลอดกาลจากการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ประชากรที่น้อยอยู่แล้วจึงยิ่งน้อยลงไปอีกจนกลายเป็นสัตว์หายาก ในหลายพื้นที่เก้งหม้ออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในประเทศไทย เก้งหม้อเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

พะยูน, ปลาหมู, หมูดุด, ดุหยง

                พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ รูปร่างคล้ายปลาโลมาแต่อ้วนป่องกว่าเล็กน้อย ผิวหนังเรียบลื่นสีเทา แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐและมีด่างขาว ขาหน้าคล้ายใบพายใช้สำหรับการช่วยบังคับทิศทางหรือใช้เดินบนพื้นทะเล ขาหลังลดรูปจนหายไปหมดเหลือเพียงกระดูกชิ้นเล็กๆอยู่ภายในลำตัว ส่วนท้ายเป็นครีบสองแฉกวางแนวระนาบคล้ายหางโลมาใช้โบกขึ้นลงเพื่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า พะยูนต้องหายใจด้วยปอดเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รูจมูกอยู่ด้านบนเพื่อให้ขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำได้โดยไม่ต้องโผล่ส่วนอื่นขึ้นมาด้วย เมื่อดำน้ำจะมีแผ่นหนังมาปิดปากรูไว้เพื่อกันน้ำเข้า ปากใหญ่ มีขนแข็งๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากสำหรับการขุดหรือไถไปตามพื้นทะเลเพื่อกินหญ้าทะเล
คาดว่าบรรพบุรุษของพะยูนเคยอาศัยอยู่บนบก แต่เริ่มมีวิวัฒนาการลงไปอาศัยอยู่ในน้ำตั้งแต่เมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อน ทำให้พะยูนมีการวิวัฒนาการรูปร่างให้เหมาะกับการอาศัยอยู่ในน้ำ พะยูนจะมีรูปร่างภายนอกคล้ายโลมาแต่พะยูนกลับมีวิวัฒนาการมาสายเดียวกับช้าง ลักษณะร่วมกับช้างที่เด่นชัดอย่างหนึ่งคือ มีเต้านมอยู่บริเวณขาหน้าเหมือนกัน
พะยูนอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนเท่านั้น พบในเขตแนวชายฝั่งด้าน ตะวันออกของชายฝั่งทวีปแอฟริกาเลียบชายฝั่งย่านเปอร์เซีย อินเดีย ไทย ชายฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย
พะยูนส่วนใหญ่ชอบอาศัยรวมกันอยู่เป็นฝูงตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำที่มีแหล่งหญ้าทะเล พะยูนหาอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อน้ำขึ้นพะยูนจะรวมกลุ่มกันเข้ามากินหญ้าทะเลที่ขึ้นเป็นแนวอยู่บริเวณน้ำตื้น จนกระทั่งน้ำเริ่มลงพะยูนก็จะกลับไปหลบอยู่บริเวณร่องน้ำใกล้เคียงและรอที่จะกลับเข้ามาเมื่อน้ำขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หญ้าทะเลชนิดที่พะยูนชอบกินได้แก่หญ้าใบมะขาม (Halophila ovalis) แม้จะกินหญ้าเป็นอาหารหลักแต่พะยูนก็กินสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่อยู่ตามพื้นในแนวหญ้าทะเลเช่นปลิงทะเลเป็นอาหารด้วยเช่นกัน
แม่พะยูนตั้งท้องเป็นเวลาประมาณ 13 เดือน ออกลูกครั้งละตัว แม่พะยูนจะเลี้ยงดูลูกอ่อนประมาณปีครึ่ง ระหว่างนี้พะยูนจะยังไม่มีลูกใหม่ไป 2-3 ปี ลูกพะยูนขนาดยาวประมาณไม่เกิน 1 เมตรจะว่ายเกาะติดบริเวณด้านข้างของแม่เกือบตลอดเวลา จากการสำรวจศึกษาโดยนักวิชาการของกรมป่าไม้ พบว่าบ่อยครั้งที่แม่พะยูนอยู่ร่วมกับพะยูนขนาดใหญ่อีกตัวหนึ่งที่ว่ายตามอยู่ไม่ห่าง แต่พะยูนตัวนั้นจะเป็นพ่อหรือพี่เลี้ยงยังไม่ทราบแน่ชัด
พะยูนมีอายุขัยประมาณ 70 ปี ตัวผู้จะสืบพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 9 ปีขึ้นไป ส่วนตัวเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุมากกว่า 13 ปี
ถึงแม้ว่าจะมีเขตกระจายพันธุ์กว้าง แต่ประชากรพะยูนทั่วโลกกลับมีจำนวนลดลงจนเกือบสูญพันธุ์เนื่องจากการล่าและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน ปัจจุบันยังคงมีเพียงบริเวณชายฝั่งออสเตรเลียเท่านั้นที่มีจำนวนประชากรพะยูนหลายหมื่นตัว
ประเทศไทยเคยมีพะยูนอยู่อย่างมากมายทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ก็มีจำนวนลดลงเนื่องมาจากการล่า การเข้าไปติดในเครื่องมือประมง และการทำลายแหล่งหญ้าทะเล ปัจจุบันพบว่าพะยูนยังคงมีกระจายอยู่ตามชายฝั่งของไทยทั้งอันดามันและอ่าวไทยแต่มีจำนวนน้อย ทางอ่าวไทย ยังคงพบอยู่บ้างที่ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา แต่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดพบที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ตัว
ไอยูซีเอ็นประเมินว่าอยู่ภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ (A2bcd) ไซเตสจัดพะยูนในออสเตรเลียอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 และจัดพะยูนนอกออสเตรเลียอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย
เลียงผา
สัตว์กีบรูปร่างคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนดำยาว ขนชั้นนอกชี้ฟู ขนบริเวณตั้งแต่โคนเขาจนถึงหัวไหล่ยาวและฟู อาจมีสีแตกต่างกันไปตั้งแต่ขาวถึงดำ หัวโต หูใหญ่ตั้ง มีเขาเป็นรูปกรวยเรียว โค้งไปทางข้างหลังเล็กน้อย ตัวผู้เขายาวกว่าตัวเมียมาก ตัวที่เขายาวที่สุดเคยวัดได้ถึง 28 เซนติเมตร โคนเขาเป็นลอนย่น กะโหลกด้านหน้าแบน มีต่อมน้ำตาอยู่ใต้ตา ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างสารกลิ่นฉุนเพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขต หางสั้นและเป็นพู่ ความยาวลำตัว 1.5 เมตร หางยาว 15 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 1 เมตร หนักประมาณ 85-140 กิโลกรัม
รอยตีนของเลียงผามีขนาดใกล้เคียงคล้ายรอยตีนเก้ง แต่กีบเลียงผาค่อนข้างขนานกัน ไม่งุ้มเข้าหากันอย่างสัตว์กีบชนิดอื่น และปลายกีบของเลียงผาค่อนข้างทู่กว่าของเก้ง
เลียงผาพบตั้งแต่แคชเมียร์ในประเทศอินเดีย เชิงเขาหิมาลัย แพร่ไปถึงอัสสัม ลงมาถึงจีนและพม่า ไทย มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา ในประเทศไทยพบในป่าหลายประเภททั่วประเทศยกเว้นที่ราบ พวกที่อยู่ในบังกลาเทศและพื้นที่ข้างเคียงอยู่ในชนิดย่อย Capricornis sumatraensis rubidus ส่วนพวกที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตราคือชนิดย่อย Capricornis sumatratraensis sumatraensis
อาศัยอยู่ตามภูเขาที่เปิดโล่ง เลียงผามักอาศัยอยู่ตัวเดียวหรือบางครั้งเป็นฝูงเล็ก ปีนป่ายและกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว และปีนต้นไม้ก็ได้ นอกจากนี้ยังว่ายน้ำได้เก่ง จึงพบได้ตามเกาะด้วย ออกหากินเฉพาะตอนเย็นและตอนเช้า เลียงผามีนิสัยหวงถิ่น อาณาเขตของเลียงผากว้างเพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งพักผ่อน กินหญ้า และบางครั้งก็กินยอดอ่อนและใบไม้ มีจุดถ่ายมูลประจำ ตอนกลางวันเลียงผาจะหลบอยู่ในพุ่มหรือในถ้ำตื้น ๆ ใต้ชะง่อนหิน
เลียงผามีจมูก หู และตาไวมาก ศัตรูในธรรมชาติคือหมาใน เมื่อถูกต้อนจนมุม จะต่อสู้ด้วยเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย
เลียงผาผสมพันธุ์ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน แม่เลียงผาตั้งท้องนาน 7 เดือน ออกลูกทีละตัว ลูกเลียงผาอยู่กับแม่เป็นเวลา 1 ปี ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 30 เดือน ตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 30-36 เดือน มีอายุขัย 10 ปี
การที่เลียงผาชอบอยู่ตามหน้าผาชันเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าได้ดี แต่โชคร้ายที่เป็นเป้าโดดเด่นของปืนนายพราน และหน้าผาหินปูนซึ่งเป็นที่อยู่หลักก็ถูกทำลายไปมาก
ปัจจุบันเป็นสัตว์หายาก ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้อยู่ในระดับอันตราย เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น